ประวัติและภารกิจ



องค์การค้าของ สกสค. เดิมชื่อ องค์การค้าของคุรุสภา ถือกำเนิดจากพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 มาตรา 4 และมาตรา 5 โดยมาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า “คุรุสภา” และให้สภานี้เป็นนิติบุคคล” มาตรา 5 บัญญัติว่า “คุรุสภาอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้ (3) เงินผลประโยชน์ต่างๆ จากการลงทุน และการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภา”
จากมาตรา 4 และมาตรา 5 (3) ดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้โอนร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ในสังกัดกรมสามัญศึกษา ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง มุมถนนด้านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชวิศยาราม ในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ตั้งอยู่ที่ข้างป้อมพระสุเมรุ บางลำพู มาให้คุรุสภาดำเนินการ
การดำเนินธุรกิจในระยะเริ่มแรก แต่ละหน่วยงานต่างดำเนินการเอง โดยมีผู้จัดการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแยกจากกัน เพียงแต่เปลี่ยนแต่ชื่อสังกัดจากเดิมมาสังกัดคุรุสภา และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชวิศยาราม มาเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา
ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้มีมติให้รวมกิจการร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ และโรงพิมพ์คุรุสภาเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกันให้ชื่อว่า “องค์การค้าของคุรุสภา” โดยกำหนดวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งเพื่อหาประโยชน์ให้แก่คุรุสภา และ อำนวยความสะดวกให้แก่การศึกษา มีผู้จัดการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้บริหารงาน และต่อมาเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้บริหารจากผู้จัดการองค์การค้าของคุรุสภาเป็น “ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา”ในเวลาต่อมา
จากวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้ง องค์การค้าของคุรุสภาจึงมีภารกิจในการผลิต จำหน่าย และพัฒนาหนังสือ สื่อการเรียนการสอน ตรงตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นกลไกของกระทรวงศึกษาธิการในการรักษาระดับราคาที่เป็นธรรม ของหนังสือและสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของชาติ ในเรื่องสื่อการเรียนการสอนและเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
องค์การค้าของคุรุสภายึดมั่นและปฏิบัติภารกิจตามวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งด้วยดีตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดำเนินกิจการโดยมิได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด และไม่ได้รับเงินอุดหนุนในการดำเนินงานจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใด แต่สามารถดำเนินกิจการจนมีผลกำไร จึงได้จัดสรรเงินจากผลกำไรสุทธิของการดำเนินงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ให้กับคุรุสภา ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นต้นมา เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของคุรุสภา และจัดสรรอีกส่วนหนึ่งให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการควบคู่กันตลอดมา
ต่อมาพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 83 กำหนดให้โอนองค์การค้าของคุรุสภา ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และกำหนดให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การค้าของคุรุสภาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันอย่างเสรีได้ องค์การค้าของคุรุสภาจึงได้ใช้ชื่อใหม่ว่า องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ องค์การค้าของ สกสค. และยังคงดำรงวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องหนังสือ สื่อการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์การศึกษา และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต่อไป
ปัจจุบันองค์การค้าของ สกสค. มีร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ 8 สาขา ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชดำเนิน (ปิดปรับปรุงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้น) ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์คุรุสภา ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ลาดพร้าว ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ราชบพิธ ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ท้องฟ้าจำลอง ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์สตรีท (The Hub เซียร์ รังสิต) ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง และร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์อ้อมน้อย และมีร้านค้าตัวแทนกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการจำหน่ายสินค้าทางการศึกษาและสินค้าอื่น มีโรงพิมพ์องค์การค้าของ สกสค. ตั้งอยู่ถนนลาดพร้าว ผลิตหนังสือเรียนสื่อการเรียนการสอน และรับจ้างพิมพ์งานทั่วไปและข้อสอบ รวมทั้งมีโรงงานผลิตอุปกรณ์การศึกษา ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม 1 มีหน้าที่ผลิตอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ สื่อการเรียนการสอนและสารเคมี และ โรงงานอุตสาหกรรม 2 มีหน้าที่ผลิตเครื่องแบบเครื่องใช้นักเรียน ครุภัณฑ์ทางการศึกษา เครื่องจักรและวัสดุทางการพิมพ์
•รายนามผู้จัดการองค์การค้าของคุรุสภา
1. นายสหัส กาญจนพังคะ
|
ปี 2493
|
2. หลวงบริหารสิกขกิจ (รักษาการผู้จัดการ)
|
ปี 2495
|
•รายนามผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา
1. นายกำธร สถิรกุล
|
ปี 2496 - 2530
|
2. นายวิเวก ปางพุฒิพงศ์
|
ปี 2530 - 2533
|
3. นายพะนอม แก้วกำเนิด
|
ปี 2533 - 2536
|
4. นายธรรมนูญ ฤทธิมณี (รักษาการ)
|
ปี 2536 – 2539
|
5. นายสมมาตร์ มีศิลป์
|
ปี 2539 - 11 มิถุนายน 2541
|
6. นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ (รักษาการ)
|
12 มิถุนายน 2541 - 14 มกราคม 2542
|
7. นายวิชัย พยัคฆโส
|
15 มกราคม 2542 - 27 ธันวาคม 2544
|
8. นายจรูญ ชูลาภ (รักษาการ)
|
28 ธันวาคม 2544 - 1 กันยายน 2545
|
9. นายชาติชัย พาราสุข
|
2 กันยายน 2545 - 30 เมษายน 2547
|
•รายนามผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค.
1. นายยืนยง จิรัฏฐิติกาล (รักษาการ)
|
1 พฤษภาคม 2547 - 3 มกราคม 2548
|
2. นายประเวศ พุ่มพวง
|
4 มกราคม 2548 - 16 สิงหาคม 2548
|
3. นายเกษม กลั่นยิ่ง (รักษาการ)
|
22 สิงหาคม 2548 - 30 พฤศจิกายน 2548 ,
1 มิถุนายน 2549 - 20 กรกฎาคม 2550
|
4. นายลาดหญ้า อูริยา
|
1 ธันวาคม 2548 - 31 พฤษภาคม 2549
|
5. นายบำเรอ ภานุวงศ์
|
25 กรกฎาคม 2550 - 6 กุมภาพันธ์ 2552
|
6. นายชินภัทร ภูมิรัตน (รักษาการ)
|
10 กุมภาพันธ์ 2552 - 18 สิงหาคม 2553
|
7. นายสันติภาพ อินทรพัฒน์
|
19 สิงหาคม 2553 - 1 มิถุนายน 2555
|
8. นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร (รักษาการ)
|
17 กุมภาพันธ์ 2555 - 3 กรกฎาคม 2555
|
9.นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ (รักษาการ)
|
4 กรกฎาคม 2555 - 24 กันยายน 2555
|
10.นายสมมาตร์ มีศิลป์
|
25 กันยายน 2555 - 16 เมษายน 2558
|
11.นายสุเทพ ชิตยวงษ์ (ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง)
|
21 เมษายน 2558 – 15 กุมภาพันธ์ 2560
|
12.นายพิษณุ ตุลสุข (ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง)
|
15 กุมภาพันธ์ 2560 - 30 กันยายน 2560
|
13. นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ (ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง)
|
1 ตุลาคม 2560 - 5 กันยายน 2561
|
14. นายวีระกุล อรัณยะนาค (ปฏิบัติหน้าที่)
|
6 กันยายน 2561 – 30 กันยายน 2562
|
15. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ (ปฏิบัติหน้าที่)
|
2 ตุลาคม 2562 - 30 มิถุนายน 2563 |
16. นายอดุลย์ บุสสา |
30 มิถุนายน 2563 - ปัจจุบัน
|
